พระพิธีธรรม

เรียบเรียงโดย พระมหาธีรพันธ์ วชิรญาโณ
( ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานคร รักษาการผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร )

จารีตประเพณีที่ยอมรับนับถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านานในสังคมไทยย่อมหลีกเลี่ยงไปไม่พ้นจากพิธีการที่เกี่ยวกับการเกิดไปจนถึงการตายซึ่งหมายถึงการที่หมู่ญาติหรือบุคคลอันเป็นที่รักได้จากเราไปอย่างไม่มีวันกลับ บางพิธีการแม้หมู่ญาติจะจากโลกนี้ไปตามคติแห่งธรรมดาไม่ว่าจะนานสักเพียงใด บุตรหลานผู้เกิดมาในภายหลังก็ยังประกอบพิธีติดตามส่งให้ พิธีที่จัดขึ้นนี้อาจเป็นส่วนรวมที่เกี่ยวด้วยประเทศชาติ เช่น พิธีการที่ทางการจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงทหารหาญและผู้เสียสละชีวิตเพื่อปกป้องประเทศชาติบ้านเมืองให้ปลอดภัยจากอริราชศัตรู เพราะถือว่าเป็นผู้มีเกียรติสูงยิ่งของชาติไทย รัฐจึงจัดให้มีพิธีการให้เป็นไปอย่างสมเกียรติ เป็นต้น

ตามจารีตนิยมที่ถือสืบต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณีที่ยอมรับทุกยุคทุกสมัยว่าในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศนับถือพระพุทธศาสนามาตั้งแต่โบราณกาล ในพิธีการต่างๆ จำต้องอาราธนาพระสงฆ์ผู้อุปสมบท ประพฤติปฏิบัติตนตามหลักพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเสมือนหนึ่งนาบุญของชาวโลกที่รองรับวัตถุทานอันผู้มีศรัทธาบริจาคเพื่อประโยชน์ และความสุขแก่ตนและหมู่ญาติ ตลอดจนหมู่ชนทั้งหลายผู้ล่วงลับจากโลกนี้ไปแล้ว

พิธีการอันเกี่ยวเนื่องด้วยผู้ตายที่เรียกว่า “ พิธีธรรม ” ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึงพิธีกรรมที่มีพระสงฆ์จำนวน ๔ รูปที่ได้รับสมมุติให้สวดภาณวาร (อ่านว่า ภา-นะ-วาน คือ ธรรมที่จัดไว้เป็นหมวดๆ สำหรับสาธยาย) หรือ สวดอัฏนา (อ่านว่า อัดตะนา ได้แก่การเรียกชื่อการยิงปืนในพิธีสวดอาฏานาฏิยสูตรในวันทำพิธีตรุษว่า “ ยิงปืนอัฏนา ” ) ในงานพระราชพิธีตรุษสงกรานต์ (พิธีนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้วแต่เมื่อใดยังไม่พบหลักฐาน) หรือสวดอภิธรรมในการศพของหลวง เรียกว่า “ พระพิธีธรรม ”

การนิมนต์พระสงฆ์มาในการบำเพ็ญกุศลอุทิศให้แก่ผู้ตาย ไม่ว่าจะเป็นราษฎรสามัญทั่วไป หรือจะเป็นเจ้านายชั้นสูง ก็ไม่มีข้อขีดคั่นแต่อย่างใด สมมุติว่ามีญาติพี่น้องถึงแก่ความตาย หลังจากได้จัดการศพตามประเพณีนิยมแล้วจึงไปนิมนต์พระที่วัด จำนวน ๔ รูปไปสวดในเวลากลางคืน เริ่มตั้งแต่ ๑ ทุ่ม ถึง ๔ ทุ่ม หรืออาจเลยกว่านั้นบ้างก็ได้ ทั้งนี้สุดแท้แต่ความสะดวกทั้งฝ่ายพระสงฆ์และเจ้าภาพ กำหนดจำนวนวันที่จะสวด อาจเป็น ๓ คืนหรือ ๗ คืน หรือมากน้อยตามกำลังศรัทธา ส่วนในรายที่เป็นผู้มีเกียรติ มีบริวารมาก จะบำเพ็ญกุศลด้วยการสวดมากกว่า ๓-๗ คืน ถึง ๕๐ คืน หรือจนถึง ๑๐๐ คืนก็ได้ พระสงฆ์ที่นิมนต์ไปสวดนั้นเรียกกันเป็นสามัญว่า “ นิมนต์พระไปสวดพระอภิธรรม ” หรือ “ นิมนต์ไปสวดพระธรรม ” ซึ่งเป็นที่เข้าใจโดยทั่วกันทันทีว่า นิมนต์พระไปสวดศพ

บทพระบาลีที่พระสวดนับว่าเป็นบทพระธรรมจริงๆ และเป็นภาษาอินเดียโบราณซึ่งยากต่อการสื่อความหมายสำหรับบุคคลผู้ไม่มีพื้นฐานความรู้ในด้านนี้ บทพระธรรมที่ใช้สวดนั้นได้แก่พระอภิธรรม ๗ บท หรือ ๗ คัมภีร์ คือ

  • บทธัมมสังคณี ว่าด้วยธรรมที่รวมเป็นหมวดหมู่ แล้วแยกเป็นธรรมเป็นกุศล ธรรมเป็นอกุศล และธรรมเป็นอัพพยากฤต(ธรรมที่ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล และธรรมที่ไม่เป็นทั้งกุศลและอกุศล)
  • บทวิภังค์ ว่าด้วยธรรมที่แยกกันเป็นข้อๆ เช่น ขันธ์ ๕ แยกออกเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ
  • บทธาตุกถา ว่าด้วยธรรมจัดระเบียบความสัมพันธ์โดยถือธาตุเป็นหลัก เช่นธรรมที่สงเคราะห์เป็นหมวดกันได้และไม่ได้
  • บทปุคคลกถา ว่าด้วยบัญญัติ ๖ ชนิด แสดงรายละเอียดเฉพาะบัญญัติอันเกี่ยวกับบุคคล
  • บทกถาวัตถุ ว่าด้วยคำถาม คำตอบในหลักธรรมประมาณ ๒๑๙ หัวข้อ เพื่อถือเป็นหลักในการตัดสินพระธรรม
  • บทยมกะ ว่าด้วยธรรมที่รวบรวมแสดงเป็นคู่ๆ เช่น ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล ธรรมเหล่านั้นมีเหตุเป็นอันเดี่ยวกันกับกุศลใช่ไหม?
  • บทปัฏฐาน ว่าด้วยปัจจัย คือ สิ่งที่เกื้อกูลสนับสนุนกันให้ธรรมอื่นเกิดขึ้น

“ พระพิธีธรรม ” ตามหัวข้อที่ตั้งไว้ข้างต้น แต่เดิมเขียนเป็น “ พระพิธีทำ ” ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงตำหนิว่า เขียนมักง่ายและดาดเกินไป ความหมายของคำว่า พระพิธีทำ หรือ พระพิธีธรรมนั้น หมายถึงพระผู้มีความรู้ความสามารถในอันที่จะประกอบพิธีการได้โดยเฉพาะ ซึ่งแตกต่างจากพระสงฆ์อื่นๆโดยทั่วไป

ฉะนั้น คำว่า “ พระพิธีธรรม ” จึงเป็นชื่อตำแหน่งของพระสงฆ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดให้พระราชาคณะผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสในพระอารามหลวงคัดเลือกพระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาในพระอารามนั้นๆ ทำการฝึกหัดสวดพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ โดยใช้ทำนองที่ต่างไปจากทำนองสวดศพบุคคลชั้นสามัญ ซึ่งเป็นทำนองร้อยแก้ว หรือไม่ก็เป็นทำนองสังโยค เรียกทำนองที่ฝึกใหม่ นี้ว่า ทำนองกะ เป็นทำนองหลวง เช่นทำนองของวัดราชสิทธาราม ทำนองเลื่อน เป็นทำนองหลวง เช่น ทำนองของวัดระฆังโฆสิตาราม และทำนองลากซุง เป็นทำนองหลวง เช่น ทำนองของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นต้น นอกนั้นยังทรงโปรดให้พระสงฆ์ผู้มีความชำนาญในภาษาบาลีเข้าใจในอักขรรุจณวิธี แต่งบทสวดขึ้นมาอีก เรียกว่า “ พระธรรมใหม่ ” ซึ่งได้นำบทโคจฉกะต่างๆมาจากคัมภีร์อภิธรรม ส่วนทำนองก็ยังคงมีการฝึกหัดอยู่ใน ๓ ทำนองดังกล่าวแล้ว บทพระธรรมใหม่ได้แก่บทสวดที่ขึ้นต้นด้วยบทว่า อาสวา ธมฺมา.... และ สญฺโญชนา ธมฺมา.... ใช้สวดคู่กับบทพระธรรม ๗ คัมภีร์ซึ่งเป็นของเดิมอีกด้วย

ในอดีตแต่เดิมมานั้น เมื่อพระสงฆ์ที่ได้รับการฝึกหัดทำนองสวดพระธรรมทั้งที่เป็นบทพระธรรมเดิมและบทพระธรรมใหม่จนเกิดความชำนาญแล้ว เจ้าอาวาสจึงจัดทำบัญชีรายชื่อ อายุ พรรษาของพระสงฆ์เหล่านั้นรวม ๔ รูปพร้อมกับระบุไปว่า ภิกษุรูปใดเป็นหัวหน้าแล้วส่งไปยังกรมสังฆการี(แผนกเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับสงฆ์ในงานพิธีหลวง ซึ่งเป็นส่วนงานของกรมการศาสนา ปัจจุบันเจ้าพนักงานสังฆการีนี้ถูกยกเลิกไปแล้ว) สังฆการีจะได้นำขึ้นทูลเกล้าเพื่อขอรับพระราชทานพัดอันเป็นเครื่องหมายตำแหน่งพระพิธีธรรม พร้อมทั้งเงินนิตยภัต(ค่าภัตตาหารที่ถวายแก่ภิกษุสามเณรเป็นประจำ/เงินเดือน)ซึ่งโปรดเกล้าได้ตั้งไว้ในหมวดพระราชกุศลเพื่อเบิกจ่ายถวายต่อไป พัดพระพิธีธรรมมี ๔ ด้าม มีลักษณะเป็นพัดหน้านาง มีพื้นสีต่างๆ กันซึ่งบ่งบอกถึงตำแหน่งลำดับของการนั่ง เช่น

สีเหลือง สำหรับหัวหน้าแม่คู่รูปที่ หนึ่ง (รูปที่เป็นต้นเสียง)

สีแดง สำหรับแม่คู่รูปที่ สอง

สีน้ำเงิน สำหรับเคียงแม่คู่รูปที่ หนึ่ง

สีเขียว สำหรับเคียงแม่คู่รูปที่ สอง

   

ตรงใจกลางของพัดพระพิธีธรรม มีมุกแกะสลักเป็นตัวอักษรว่า “ พิธีธรรม ” ฝังไว้ ด้านปลายของพัดจะเป็นหัวบัวยอดแหลม เดิมทำด้วยงา ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นวัสดุคล้ายงาแทน ส่วนด้ามเป็นไม้

ปัจจุบันนี้ การแต่งตั้งพระพิธีธรรมเป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสที่จะเสนอรายชื่อพระที่ ได้รับการฝึกหัดทำนองสวดพระธรรมทั้งที่เป็นบทพระธรรมเดิมและบทพระธรรมใหม่จนเกิดความชำนาญแล้ว โดยจัดทำบัญชีรายชื่อ อายุ พรรษาของพระสงฆ์เหล่านั้นรวม ๔ รูปพร้อมกับระบุไปว่า ภิกษุรูปใดเป็นหัวหน้าแล้วส่งไปยัง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อทราบและจัดนิตยภัตถวายเป็นรายเดือน เพียงเท่านี้ พระพิธีธรรมก็นับได้ว่าเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งแล้ว อย่างไรก็ตาม พระพิธีธรรมที่จะถือพัดในพิธีหลวงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยไม่ต้องแต่งตั้งใหม่ หมายความว่า วัดที่มีพระพิธีธรรมสามารถมีมากกว่า ๔ รูปก็ได้ เมื่อเวลาที่จะไปในพิธีหลวงมาถึง พระพิธีธรรมจากวัดนั้นๆจะไปในการพิธีหลวงเพียงวัดละ ๑ สำรับ คือ ๔ รูปเท่านั้น

โดยทั่วไปการนั่งสวด พระพิธีธรรมจะนั่งตามลำดับเป็นแถวเรียงหน้ากระดาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานที่ซึ่งอาจจะต้องนั่งหันหน้าเข้าหากันตามที่ปรากฏในสื่อสาธารณะและที่ทราบกันโดยทั่วไปมี ๒ แบบ คือ

๑. นั่งตามลำดับสีพัด คือ

สีเหลือง สำหรับหัวหน้าแม่คู่รูปที่ หนึ่ง

สีแดง สำหรับแม่คู่รูปที่ สอง

สีน้ำเงิน สำหรับเคียงแม่คู่รูปที่ หนึ่ง

สีเขียว สำหรับเคียงแม่คู่รูปที่ สอง

๒. การนั่งสวดบนซ่าง(เตียงสวด) เช่น เตียงสวดบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทใน พระบรมมหาราชวัง ดังนี้

สีน้ำเงิน สำหรับเคียงแม่คู่รูปที่ หนึ่ง

สีเหลือง สำหรับหัวหน้าแม่คู่รูปที่ หนึ่ง

สีแดง สำหรับแม่คู่รูปที่ สอง

สีเขียว สำหรับเคียงแม่คู่รูปที่ สอง

สีเหลืองและสีแดงนั่งตรงกลาง สีน้ำเงินและสีเขียวนั่งขนาบขวาซ้าย

   

ส่วนการนั่งสดับปกรณ์ และ การรับพระราชทานฉันภัตตาหาร นั่งเรียงตามลำดับ ดังนี้

สีเหลือง สำหรับหัวหน้าแม่คู่รูปที่ หนึ่ง

สีแดง สำหรับแม่คู่รูปที่ สอง

สีน้ำเงิน สำหรับเคียงแม่คู่รูปที่ หนึ่ง

สีเขียว สำหรับเคียงแม่คู่รูปที่ สอง

การสวดพระธรรมในพิธีหลวง ไม่มีการอาราธนา เมื่อจุดธูปเทียน เครื่องบูชาที่กะบะเครื่อง ๕ หน้าตู้พระธรรมแล้ว ก็เริ่มสวดได้เลย

ในรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้ตั้งพระพิธีธรรมประจำวัดที่เป็นพระอารามหลวง ๑๒ วัดๆ ละ ๔ รูป เรียกว่า ๑ สำรับ ในฝั่งธนบุรี ให้วัดราชสิทธารามเป็นวัดต้น สำหรับจังหวัดธนบุรี (ปัจจุบันได้รวมเป็นเขตปกครองกรุงเทพมหานครแล้ว)ฝั่งพระนครให้วัดราชบูรณะเป็นวัดต้น ซึ่งวัดต้นทั้งสองวัดนี้เรียกขานในหมู่นักสวดและนักฟังทั่วไปว่า “ สำรับราชครู ” อันมีความหมายว่า ท่วงทำนองในการสวดทุกวรรคทุกตอนที่เป็นของเดิมมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ได้รักษาไว้อย่างครบถ้วนทุกประการ มาในรัชสมัยแห่งรัชกาลที่ ๔ ทรงให้ยุบพระพิธีธรรมวัดราชบูรณะ ทรงให้ตั้งพระพิธีธรรมวัดบวรนิเวศวิหารขึ้นแทน ถึงกระนั้นก็มิได้ทรงโปรดให้อาราธนาพระพิธีธรรมจากวัดบวรนิเวศวิหารไปสวดในงานพระศพหรืองานศพที่อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้แต่อย่างใด

ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ในการบำเพ็ญพระราชกุศลกำหนด ๑๐๐วัน พระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงมีรับสั่งให้นิมนต์พระพิธีธรรมจากวัดบวรนิเวศวิหารมาสวดในการนี้ด้วย

หน้าที่พระพิธีธรรมที่ทรงโปรดแต่งตั้งขึ้นไว้นั้น สำหรับสวดพระบรมศพ พระศพของบรรดาเจ้านายที่เสด็จสวรรคต ทิวงคต สิ้นพระชนม์ และสิ้นชีพตักษัย แม้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณ เมื่อถึงแก่อสัญกรรมและอนิจกรรม ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานบำเพ็ญกุศลอุทิศให้มีผ้าไตรสดับปกรณ์ปากโกศ(พิธีสวดมาติกาบังสุกุลเนื่องด้วยศพ เมื่อแรกนำศพลงบรรจุไว้ในโกศแล้ว ปัจจุบัน คำว่า “ สดับปกรณ์ ” นี้ใช้เฉพาะเจ้านาย) และโปรดให้มีพระพิธีธรรมประจำช่างสวด มีกำหนดวันตามลำดับยศและตำแหน่ง สำหรับพระสงฆ์ที่จะเข้าไปสวดพระบรมศพ และพระศพ เป็นต้นนั้น จะต้องนิมนต์เฉพาะพระพิธีธรรมตามพระอารามหลวงต่างๆ โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันสวด

แต่เดิมมา วิธีดำเนินการ คือ เมื่อสำนักพระราชวังได้รับแจ้งจากเจ้าภาพแล้วจะนำเรื่องเข้ากราบบังคมทูลให้ทรงทราบ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดฯ แล้ว ทางสำนักพระราชวังจะออกหมายกำหนดการตามที่ได้ทรงรับสั่งส่งไปยังกองสังฆการี ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่สังฆการีจะได้วางฎีกานิมนต์พระพิธีธรรมหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเข้าสวดตามหมายรับสั่ง หากเป็นพระบรมศพหรือพระศพเจ้านายชั้นสูง มักทรงโปรดฯ ให้นิมนต์พระพิธีธรรมสวด ๒ สำรับ คือกลางวันสำรับหนึ่ง กลางคืนสำรับหนึ่ง มีกำหนดโปรด ๓ วันบ้าง ๗ วันบ้าง หรือมากกว่านั้นทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพระอิสริยยศ และตำแหน่งหน้าที่

ปัจจุบันวิธีดำเนินการนิมนต์พระพิธีธรรมไปสวดพระธรรมยังคงถือปฏิบัติเหมือนในอดีต ต่างแต่ไม่มีกองสังฆการีเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น โดยสำนักพระราชวังจะแจ้งไปยังกรมการศาสนา กรมการศาสนา โดยฝ่ายพิธี กองศาสนูปถัมภ์จะเป็นผู้วางฎีกานิมนต์พระพิธีธรรม กำหนดวัน เวลา สถานที่ไว้ให้ชัดเจน ฝ่ายพระพิธีธรรมเมื่อได้รับฎีกานิมนต์แล้วก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ผลัดเปลี่ยนหนุนเวียนกันไป

สำหรับศพของพระสงฆ์ที่ดำรงสมณศักดิ์ชั้นสูง นับตั้งแต่พระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองขึ้นไป ก็ทรงโปรดให้นิมนต์พระพิธีธรรมเข้าสวดมีกำหนดเกณฑ์ ๓ วัน หากพระสงฆ์ชั้นสมเด็จพระราชาคณะ โปรดให้พระพิธีธรรมเข้ามีเกณฑ์กำหนด ๗ วัน และหากเป็นพระศพของสมเด็จพระสังฆราช โปรดให้สวดมีกำหนด ๑๕ วัน ทั้งนี้รวมไปถึงงานออกพระเมรุในเวลาพระราชทานเพลิงก็ทรงโปรดให้อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ด้วย

ในปัจจุบัน วัดที่มีพระพิธีธรรม เหลืออยู่เพียง ๑๐ วัดเท่านั้น คือ

  • วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
  • วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร
  • วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร
  • วัดราชสิทธาราม ราชวรมหาวิหาร
  • วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร
  • วัดสระเกศราช วรมหาวิหาร
  • วัดจักรวรรดิราชาวาส วรมหาวิหาร
  • วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร
  • วัดประยูรวงศาวาส วรวิหาร
  • วัดอนงคาราม วรวิหาร

หน้าที่ของพระพิธีธรรม นอกจากการสวดศพอันเป็นหน้าที่หลัก ซึ่งจะมีเป็นครั้งคราวแล้ว ยังมีกิจที่พระพิธีธรรมจะต้องสวดตลอดทั้งปี คือ การสวดจตุรเวท ทำน้ำพุทธมนต์ ที่หอศาสตราคมในพระบรมมหาราชวังประจำวันพระทั้งข้างขึ้นและข้างแรม พระพิธีธรรมจากวัดทั้ง ๑๐ นี้จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปสวดในเวลา ๑ ทุ่มตรง การสวดทำน้ำพุทธมนต์นี้เป็นของมีมาตามโบราณราชประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยา สำหรับใช้แช่เครื่องราชศาตราวุธให้ข้าราชการทุกหมู่เหล่าได้ดื่มในคราวมีพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เฉพาะปัจจุบันเจ้าพนักงานจะตักน้ำพุทธมนต์นี้เข้าทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อสรงพระพักตร์เป็นประจำ แม้ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเศกก็ใช้น้ำพุทธมนต์นี้สำหรับโสรจสรงด้วย

คุณสมบัติของพระพิธีธรรม นอกจากจะเป็นผู้ได้รับการฝึกหัดทำนองการสวดพระธรรมจนมีความถูกต้อง มีเสียงที่ไพเราะแล้ว บุคลิกลักษณะภายนอกก็มีความสำคัญยิ่ง เช่น สุขภาพร่างกายไม่บกพร่อง การรักษาสมณสัญญาตามพระธรรมวินัยเป็นที่น่าเลื่อมใส เพราะเกี่ยวกับการนำตัวเข้าไปอยู่ในพระราชฐานพระราชวัง ซึ่งเต็มไปด้วยข้าราชบริพารน้อยใหญ่ ผู้สูงด้วยเกียรติยศ เกียรติศักดิ์ ที่เฝ้าปฏิบัติหน้าที่ทุกฝ่ายโดยทั่วหน้า ที่สุดแม้ต่อเบื้องพระพักตร์ของพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถและพระบรมวงศานุวงศ์๑๐

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่หนักใจและยากแก่ท่านเจ้าอาวาสผู้ทำหน้าที่คัดเลือกพระสงฆ์ ตลอดจนพระสงฆ์ผู้ถูกคัดเลือกแล้ว แต่ด้วยความรู้ความสามารถ ฉลาดด้วยธรรมวิธีของท่านเจ้าอาวาสที่ได้พิจารณาอย่างถ่องแท้ และพระภิกษุสงฆ์ ที่ได้รับพระกรุณาโปรดพระราชทานสมณศักดิ์ และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส จะสามารถรับภาระธุระในส่วนที่เป็นกิจของคณะสงฆ์อันเกี่ยวเนื่องด้วยพระราชศรัทธาและราชการ จักได้ปฏิบัติกิจดังกล่าวให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี พระพิธีธรรมจึงยังคงมีปรากฏอยู่คู่กับวัฒนธรรมประเพณีไทยจนตราบเท่าจนถึงทุกวันนี้.


ที่มา :

๑ http://www.watrakang.com/onebook/002.pdf

๒ ร. อัตถวิบูลย์, รวมพิธีธรรมเนียมสงฆ์, กรุงเทพฯ: ห.จ.ก. อรุณการพิมพ์, พ.ศ. ๒๕๑๕ หน้า ๙๙-๑๐๐

๓ จากคำให้สัมภาษณ์ของพระมหาปรีชา ปสนฺโน พระพิธีธรรมวัดระฆังโฆสิตาราม

๔ จากคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิธี กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๑ เวลา ๐๙.๔๕ น.

๕ จากคำให้สัมภาษณ์ของพระมหาปรีชา ปสนฺโน พระพิธีธรรมวัดระฆังโฆสิตาราม

๖ เรื่องเดียวกัน

๗ ร. อัตถวิบูลย์, รวมพิธีธรรมเนียมสงฆ์ หน้า ๑๐๐

๘ จากคำให้สัมภาษณ์ของพระมหาปรีชา ปสนฺโน พระพิธีธรรมวัดระฆังโฆสิตาราม

๙ ร. อัตถวิบูลย์, รวมพิธีธรรมเนียมสงฆ์ หน้า ๑๐๒

๑๐ เรื่องเดียวกัน หน้า ๑๐๔

 








หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ ห้องสมุดวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร
เลขที่ ๒๕๐/๑ ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย จังหวัด กรุงเทพมหานคร
copyrights 2004 watrakang.com. all rights reserved. โทร.02-418-1079
library@watrakang.com